สำหรับพ่อแม่มือใหม่ นอกจากการเตรียมความพร้อมในการดูแลและรับมือกับเจ้าตัวน้อยแล้ว การวางแผนการเงินให้ลูกก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญมาก เพราะในอนาคตค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งที่จำเป็นและไม่คาดคิดจะตามมาอีกมากมาย จนเราอาจคาดไม่ถึงเลยทีเดียว หากคิดได้ก่อน ออมเก็บก่อน จะเป็นแต้มต่อสำคัญที่ช่วยสร้างพื้นฐานการเงินที่ดีเพื่ออนาคตได้ กับ 5 เทคนิควางแผนการออมให้ลูก แบบฉบับพ่อแม่มือใหม่
เทคนิคที่ 1 ร่วมกันวางแผนและตั้งเป้าหมาย
สำหรับคุณพ่อและแม่มือใหม่ การมีลูกเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในชีวิตคู่ ดังนั้น ก่อนเริ่มวางแผนการเงินให้ลูกที่กำลังจะเกิดมา หรือคู่ที่มีลูกแล้ว ควรเริ่มต้นด้วยการพูดคุยถึงความต้องการและความพร้อมด้านต่าง ๆ ของแต่ละคนในการมีลูก รวมถึงร่วมกันวางเป้าหมายเรื่องการออมให้สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ของแต่ละคน เพื่อให้เพียงพอกับการบรรลุเป้าหมายที่ทั้งคู่ได้ตั้งใจไว้
ตัวอย่าง : คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ ตั้งใจมีลูกด้วยกัน 1 คน และมีการวางแผนเก็บออมเงินสำหรับการเลี้ยงดูในช่วง 3 ปีแรกเป็นเงินอย่างน้อย 100,000 ดังนั้น เป้าหมายการเก็บออมของทั้งคู่ ต้องมีการออมอย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเมื่อครบ 1 ปี (3,000 x 12) จะได้เงินก้อน 36,000 บาท ซึ่งหากทำตามเป้าหมาย เก็บครบ 3 ปี (36,000 x 3) จะได้ 108,000 บาท สำหรับวางแผนเงินออมเพื่อมีลูกน้อยในอีก 3 ปีข้างหน้า
เทคนิคที่ 2 สำรวจค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิตในการดูแลลูก
การวางแผนการเงินให้ลูกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ได้สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดูแลเด็กคนหนึ่ง พร้อมทั้งช่วยกันวางแผนวิธีออมเงินให้ลูกทั้งในรูปแบบระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้เงินในแต่ละช่วงวัยที่สำคัญ เช่น ในช่วงอายุ 1-5 ปี เป็นช่วงก่อนวัยเรียน จะมีค่าใช้จ่ายสำคัญอย่าง ค่านม ค่าอุปกรณ์เลี้ยงดูต่าง ๆ ค่าเสื้อผ้าและของใช้ต่าง ๆ ค่าการตรวจสุขภาพเด็กเล็ก ต่อมาในช่วงอายุ 5-10 ปี เป็นช่วงวัยเข้าโรงเรียน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเป็นค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน หรือค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอื่น ๆ เป็นต้น
การเลี้ยงดูเด็ก 1 คน มักตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงในหลายด้าน ดังนั้น การสำรวจค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยให้คู่รักมือใหม่สามารถวางแผนออมเงินให้ดีขึ้นและเหมาะสมได้
เทคนิคที่ 3 จัดการหนี้ให้เร็วที่สุด
หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลกระทบให้การวางแผนการเงินให้ลูกเป็นไปได้ยากมากขึ้น นั่นก็คือการมีหนี้สะสม ดังนั้น หากต้องการให้สถานะทางการเงินในครอบครัวไม่ต้องรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ควรหันหน้าเพื่อพูดคุยและหาแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินและดอกเบี้ยแสนแพงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขอแนะนำว่า ให้เริ่มต้นจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน จากนั้นค่อยจัดการหนี้อื่น ๆ ไปทีละอย่าง จนไม่มีหนี้สะสมหรือเหลือหนี้ที่ต้องจ่ายให้น้อยที่สุด
รู้หรือไม่ว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูลูกน้อย เป็นการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายก้อนใหม่ที่กินระยะเวลายาวนาน ดังนั้น การจัดการหนี้เก่า จะช่วยให้อุปสรรคในการออมเงินน้อยลงได้
เทคนิคที่ 4 เปิดบัญชีคู่เพื่อลูก
อีกหนึ่งวิธีออมเงินให้ลูกที่หลายบ้านเลือกทำกัน คือการเปิดบัญชีคู่เพื่อลูก โดยการนำเงินที่ทั้งคู่ได้เก็บออมร่วมกันไปใส่ลงในบัญชีนี้ โดยให้สิทธิ์ในชื่อลูกเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อเป็นทั้งเงินออมสำหรับลูกในอนาคต และเป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของลูก ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคู่ได้ตกลงกัน
ข้อดีของการเปิดบัญชีร่วมกัน โดยนำเงินออมที่วางแผนไว้แต่ละเดือนมาใส่ในบัญชี จะเป็นรูปแบบการออมเงินที่ทำให้ทั้งคู่สามารถดูแลและจัดการการเงินสำหรับลูกได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นเงินก้อนสำหรับวางแผนการเงินให้ลูกในอนาคตที่ดีอีกด้วย