ความผิดปกติของร่างกาย ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็สร้างความกังวลใจให้แก่เรา โดยเฉพาะหากว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นมาตามอวัยวะต่าง ๆ ก็ทำให้หลายคนวิตกกังวลว่าก้อนเนื้อนั้นคืออะไรกันแน่ ระหว่างเนื้องอก มะเร็ง หรือว่าซีสต์ แล้ว 3 ประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไร เป็นโรคประเภทเดียวกันหรือไม่ และมีอันตรายที่แตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจึงพาทุกคนมาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ และหาวิธีรับมือเมื่อต้องเผชิญ
“เนื้องอก” อันตรายหรือไม่?
เนื้องอก คือ เนื้อเยื่อภายในร่างกายที่มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตผิดปกติ อาจจะส่งผลต่ออวัยวะโดยรอบ และสามารถพัฒนาเป็นโรคมะเร็งได้ หากว่าเราคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณจุดต่าง ๆ ของร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อหาความผิดปกติ และพิจารณาว่าก้อนเนื้อดังกล่าวเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเป็นก้อนมะเร็ง
เราอาจจะกล่าวได้ว่าเนื้องอกกับมะเร็งนั้นจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน เพราะในทางการแพทย์มะเร็งถือว่าเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็ว และกระทบต่ออวัยวะและระบบการทำงานในร่างกายนั่นเอง
สาเหตุ
ในทางการแพทย์ เราอาจจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสาเหตุที่แน่ชัดของเนื้องอกเกิดจากอะไร แต่หลายครั้งที่พบว่า เนื้องอกกับมะเร็งมักจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างสิ่งแวดล้อม กรรมพันธุ์ อาหารการกิน ความเครียด และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
อย่างไรก็ตาม เนื้องอกบางชนิดอาจจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ อย่างเนื้องอกในมดลูก ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนนั่นเอง
อาการ
สำหรับอาการของเนื้องอกจะมีความแตกต่างกันไปตามจุดที่เกิด โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ได้แสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด อาจจะคลำดูแล้วเจอก้อนเนื้อ เจ็บ รู้สึกอ่อนเพลีย หรือมีไข้อ่อน ๆ ต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกกับมะเร็งจะคล้ายคลึงกัน คือ จะมีการตรวจเซลล์เม็ดเลือดแดง, ตรวจการทำงานของตับ, เอกซเรย์, CT Scan, MRI ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำการรักษา
การรักษา
สำหรับการตรวจรักษาเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง แพทย์จะพิจารณาจากขนาดและจำนวนของเนื้องอก และผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง หากเนื้องอกมีขนาดเล็ก แพทย์อาจจะให้เฝ้าระวัง และมาตรวจซ้ำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แต่หากก้อนเนื้อนั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แพทย์อาจจะให้กินยาเพื่อลดขนาดเนื้องอก หรือผ่าตัด