โรคมะเร็ง เป็นหนึ่งในโรคที่พบในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก และมีคนไทยมากกว่า 100,000 คนป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนดูแลและตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์ได้ค้นคว้าและวิจัยการรักษามะเร็งแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และลดผลข้างเคียงจากการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวทางการรักษามะเร็ง มีทั้งที่เป็นแนวทางเลือกใหม่และแบบดั้งเดิม ต่อไปนี้
การรักษาด้วยการผ่าตัด
การรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัด (Surgery) เป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่ยังมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน ซึ่งหากว่าเป็นมะเร็งในระยะแรก ๆ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจะเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผล และสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้ แต่หากว่าเป็นระยะลุกลาม อาจจะต้องใช้วิธีรักษารูปแบบอื่น ๆ ประกอบกันไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
แม้ว่าการผ่าตัดจะเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ดี แต่ก็มีผลข้างเคียงและสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย ทำให้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดให้แผลมีขนาดเล็กลง ลดความเจ็บปวด และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
รูปแบบการผ่าตัดที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
การผ่าตัดแบบทั่วไป เป็นการผ่าตัดเปิดเนื้อเยื่อ มักใช้กับการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมาก ๆ ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 7-14 วัน
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อยกว่า เหมาะกับมะเร็งระยะต้นถึงระยะปานกลาง
การผ่าตัดแบบใช้ความเย็น (Cryoablation) เป็นการนำแท่งความเย็นแทงผ่านชั้นผิวหนังลงไปที่เซลล์มะเร็ง เหมาะกับมะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด ลดความเจ็บปวด และไม่ทำลายเส้นเลือดใหญ่
การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ (Photodiagnostic Therapy) เป็นการใช้สารเคมีร่วมกับแสงเลเซอร์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตาย แต่ไม่กระทบต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง
ข้อดีและข้อจำกัดของการรักษาด้วยการผ่าตัด
ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัดคือ สามารถนำก้อนเซลล์มะเร็งที่มองเห็นได้ออกจากร่างกายจนหมด ซึ่งช่วยยับยั้งการแพร่กระจายได้ดีในระยะแรกถึงปานกลาง ส่วนข้อจำกัด คือ เซลล์มะเร็งที่มองไม่เห็นอาจจะกระจาย หรือหากว่าเซลล์มะเร็งใหญ่มากอาจจะกระทบการทำงานของอวัยวะภายในได้
การรักษาด้วยรังสีบำบัด
การฉายรังสี (Radiotherapy) เป็นวิธีหนึ่งที่นำมารักษามะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ สามารถใช้รักษาให้หายขาดและประคับประคองอาการ โดยใช้เป็นวิธีการรักษาเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น
รูปแบบของการรักษาด้วยรังสี
เทคนิคการฉายรังสี (External Beam) โดยฉายแสงจากด้านนอกไปกำจัดเซลล์มะเร็ง
การกลืนแร่ (Internal Radiation Therapy) เป็นการกลืนแร่ หรือฝังแร่ เพื่อปล่อยกัมมันตรังสีทำลายเซลล์มะเร็ง
ข้อดีและข้อจำกัดของการรักษาด้วยรังสีบำบัด
การรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ เหมาะสำหรับคนไข้ที่ไม่พร้อมจะผ่าตัด บรรเทาอาการปวดจากการลุกลามของมะเร็งได้ ส่วนข้อจำกัดคือ มะเร็งบางระยะอาจจะดื้อรังสี ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร ต้องรักษาด้วยวิธีอื่นแทน
การรักษาด้วยเคมีบำบัด
การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) จะเข้าไปยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักจะใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ มักใช้ในกรณีที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายในยังอวัยวะอื่น ๆ ไปแล้ว
เทคนิคการรักษาด้วยเคมี แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
แบบรับประทาน เหมาะกับผู้ป่วยในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว
แบบฉีดเข้าเส้นเลือด เหมาะกับผู้ป่วยในระยะที่เซลล์แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
ข้อดีและข้อจำกัดของการรักษาด้วยเคมีบำบัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัดมีข้อดีตรงที่ช่วยลดการกระจายและกำจัดเชื้อมะเร็งในกระแสเลือดได้ ส่วนข้อจำกัดคือ มีผลข้างเคียงมาก มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และอาจจะเกิดภาวะติดเชื้อ