-----------------------------
รู้หรือไม่ว่าผู้ที่มีอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ ก็จำเป็นต้องยื่นภาษีผู้มีเงินได้ เช่นเดียวกับคนที่ทำงานประจำทั่วไป แล้วขั้นตอนในการยื่นภาษีผู้มีเงินได้ของฟรีแลนซ์ จะมีขั้นตอนในการยื่นที่แตกต่างจากพนักงานประจำอย่างไร ในบทความนี้เราจะพาคุณมาเรียนรู้ว่าฟรีแลนซ์หรืออาชีพอิสระต้องยื่นภาษีแบบไหน พร้อมมีขั้นตอนในการยื่นภาษีมาบอกกัน
อาชีพฟรีแลนซ์ หรืออาชีพอิสระ คือการที่ผู้ประกอบอาชีพนั้น ไม่ได้เป็นพนักงานประจำขององค์กรหรือบริษัทแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการทำงานโดยการรับจ้างทำงานเป็นรายครั้งหรือรายโปรเจกต์ให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นบุคคล องค์กร หรือว่าบริษัทต่าง ๆ โดยรับค่าจ้างหลังจากส่งมอบงานเสร็จสิ้น หรือเป็นรายงวดตามที่ได้ตกลงกันไว้
ตัวอย่างอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ที่พบเห็นได้บ่อย เช่น นักเขียน นักแปล นักออกแบบกราฟิก โปรแกรมเมอร์ ช่างภาพ ที่ปรึกษา เป็นต้น โดยจะเป็นการรับงานไปทำตามความถนัดและความชำนาญเฉพาะทางของแต่ละบุคคล
สำหรับรายได้ของฟรีแลนซ์หรืออาชีพอิสระ จัดเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) ซึ่งได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่การงาน หรือการรับทำงานจ้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างแรงงานประจำหรือชั่วคราว หรือจากการรับทำงานให้ เช่น ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประจำหรือชั่วคราว โดยฟรีแลนซ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนกับเงินเดือนของพนักงานทั่วไป ซึ่งคำนวณจากรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วเช่นเดียวกัน
หากกำลังสงสัยว่าอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ต้องยื่นภาษีแบบไหน ต้องบอกให้เข้าใจว่าอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.90 โดยปกติจะต้องยื่นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี
อัตราภาษีเงินได้สำหรับฟรีแลนซ์ จะใช้อัตราเดียวกับผู้มีรายได้ประจำ โดยเป็นอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีดังต่อไปนี้
เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%
เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10%
เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15%
เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20%
เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25%
เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30%
เงินได้สุทธิ มากกว่า 5,000,001 บาท อัตราภาษี 35%
ต้องบอกว่าเป็นเรื่องจริงที่คนทำงานฟรีแลนซ์ต้องโดนหักภาษี 2 รอบ โดยการเสียภาษีรอบแรกคือการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ส่วนรอบที่ 2 คือ หักภาษีจากการยื่นภาษีประจำปี ซึ่งหากคำนวณภาษีแล้วต้องจ่ายไม่เกิน 3% ที่โดนหักไป ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเพิ่ม แต่ถ้ารวมแล้วน้อยกว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็สามารถขอคืนภาษีได้อีกด้วย
คนที่ประกอบอาชีพอิสระจะไม่มีเอกสาร 50 ทวิ มาใช้ในการยื่นภาษี เหมือนคนที่ทำงานประจำ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการรวบรวมเงินได้พึงประเมินด้วยตนเอง โดยการนำ “ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย” ที่ได้รับจากผู้ว่าจ้าง และหลักฐานการโอนเงินในกรณีที่ค่าจ้างไม่เกิน 1,000 บาท มาใช้ในการคำนวณหาเงินได้พึงประเมิน เมื่อรวบรวมเงินได้พึงประเมินของทั้งปีเอาไว้แล้ว ก็เอามาคำนวณหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อเหลือเป็นเงินได้สุทธิ จากนั้นจึงนำเงินได้สุทธิไปเทียบอัตราภาษีที่ต้องเสียต่อไป ซึ่งมีสูตรที่ใช้ในการคำนวณ ดังต่อไปนี้
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
ในส่วนของค่าใช้จ่ายและรายการลดหย่อนภาษีของคนที่เป็นฟรีแลนซ์ สามารถแจกแจงออกได้เป็น ดังนี้
ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ จะหักจากเงินได้พึงประเมิน โดยหักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
กลุ่มที่ 1 ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและครอบครัว
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว
หักค่าลดหย่อนได้จำนวน 60,000 บาท
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส (ไม่มีเงินได้)
หักค่าลดหย่อนได้จำนวน 60,000 บาท เมื่อคู่สมรสไม่มีรายได้
3. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ และคลอดบุตร
หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
4. ค่าลดหย่อนภาษีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม
หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท และบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
5. ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดา-มารดาของตน และของคู่สมรส
หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
6. ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการ หรือบุคคลทุพพลภาพ
หักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
หมวดประกัน
1.ประกันสังคม
หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
2.เบี้ยประกันชีวิต และประกันแบบสะสมทรัพย์
ที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
3.เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ
หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท และหากรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิต จะต้องไม่เกิน 100,0000 บาท
4.เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาของตนและบิดามารดาของคู่สมรส
หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดามารดาของแต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
5.เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง ในอัตรา 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
ทั้งนี้ เป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
1.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF : Retirement Mutual Fund)
หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท
3.กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
หักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เงินได้ที่ได้รับยกเว้นข้างต้นเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
4.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
5.กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)
หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของ เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 300,000 บาท (อัปเดต 2 มกราคม 2568)
6.กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX)
ตามประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนสนหุ้นกลุ่มความยั่งยืนและมีมติอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนแบบพิเศษ (Thai ESGX) โดยสามารถหักลดหย่อยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ดังนี้
1. หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30% ของ เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 300,000 บาท โดยจะต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESGX ภายในระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2568
2. หากบุคคลธรรมดาที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุน LTF ได้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESGX จะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงไม่เกิน 500,000 บาท โดยในปีภาษี 2568 สามารถหักลดหย่อนได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และในปี 2569 – 2572 สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริงปีละไม่เกิน 50,000 บาท
7.ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ สร้าง หรือเช่าที่อยู่อาศัย
สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 100,000 บาท โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้มากกว่า 1 หลัง
เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม) หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
กลุ่มที่ 3 ค่าใช้จ่ายกลุ่มเงินบริจาค
เงินบริจาคทั่วไป
เช่น บริจาคให้วัดและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหกค่าลดหย่อนภาษีแล้ว
เงินบริจาค
ในวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม ประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีแล้ว
เงินบริจาคอื่น หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
เงินบริจาคให้กับพรรคการเมืองหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
กลุ่มที่ 4 ค่าใช้จ่ายในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
การใช้จ่ายที่อยู่ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือโครงการช้อปดีมีคืน (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละปี)
โครงการ “Easy E-Receipt” ลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท
เป็นโครงการช้อปลดหย่อนภาษีประจำปี 2568 ที่ให้ประชาชนนำเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ที่ได้ในช่วงตั้งแต่ 16 มกราคม 2568 – 28 กุมภาพันธ์ 2568 มาใช้ลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับปีภาษี 2567 เท่านั้น สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
ค่าก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย หักลดหย่อนสูงสุด 100,000 บาท
เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ชำระค่าจ้างก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยขึ้นใหม่ให้แก่ผู้รับจ้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถลดหย่อนได้จำนวน 10,000 บาท ต่อทุกจำนวน 1,000,000 บาทตามที่จ่ายจริง แต่รวมค่าลดหย่อนแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และไม่เกินหนึ่งหลัง เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568
ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
กลุ่มที่ 5 ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านหรือซ่อมแซมรถเนื่องจากประสบอุทกภัย
ค่าซ่อมบ้าน หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งได้จ่ายระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567 นั้น สามารถนำมาใช้ลดหย่อนสำหรับปีภาษี 2567 เท่านั้น ได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ค่าซ่อมรถ หักลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถ หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งได้จ่ายระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567 นั้น สามารถนำมาใช้ลดหย่อนสำหรับปีภาษี 2567 เท่านั้น ได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินสามหมื่นบาท
ทั้งนี้ โดยเป็นไปตามที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
การยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90 สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ด้วยตัวเอง ที่สำนักงานกรมสรรพากรในพื้นที่ที่ตนเองอยู่อาศัย
ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ด้วยการส่งแบบฟอร์มผ่านไปรษณีย์ แต่ต้องเป็นฟรีแลนซ์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น
ยื่นแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90 ทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร
นี่คงทำให้เห็นกันแล้วว่า การยื่นภาษีของชาวฟรีแลนซ์ไม่ได้เป็นเรื่องยากอย่างที่คิด แถมยังสามารถลดหย่อนภาษีได้หลายทาง สำหรับใครที่มองหาประกันสุขภาพที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ มาเลือกแผนประกันสุขภาพสุดคุ้ม เบาใจเรื่องค่ารักษา ไม่ต้องสำรองจ่าย เลือกแผนประกันแผนที่ใช่ จากโตเกียวมารีนประกันชีวิตได้เลย
หากสนใจสอบถามได้เลยที่ศูนย์บริการลูกค้ารายบุคคล โทรศัพท์ 02-650-1400 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-20.00 น.
ข้อมูลอ้างอิง
5 ที่สิ่งต้องรู้ก่อนยื่นภาษีสำหรับผู้ไม่มีรายได้ประจำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 จาก https://blog.fastwork.co/5-things-freelance-need-to-know-about-individual-income-tax/
ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 'ฟรีแลนซ์' ต้องรู้! ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามกั๊ก 'ภาษีเงินได้'. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/927393
'ฟรีแลนซ์' ต้องรู้!! ยื่นภาษี 2566 ต้องเตรียมตัวยังไง ใช้อะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 จาก https://today.line.me/th/v2/article/j7J8LgL
ผู้เขียนบทความนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันชีวิตและประกันชีวิตบำนาญ ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ทั้งด้านประกันชีวิตและประกันสุขภาพสำหรับรายบุคคลและรายกลุ่ม เราได้ให้ทั้งคำปรึกษาและออกแบบแผนประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าของเราอยู่เสมอ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญนี้ ทำให้ลูกค้าโตเกียวมารีนประกันชีวิตมั่นใจได้ว่า จะได้รับความคุ้มครองที่ตอบโจทย์กับความคุ้มครองของคุณมากที่สุด ทำให้ผู้อ่านมั่นใจได้ว่าเนื้อหาทุกบทความจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของท่าน
ดูแผนประกันทั้งหมดของเราChoose your country or region
Visit HQ Pages
Visit Country Pages
Select your location and language
All
All
Asia Pacific
Australia
Americas
Europe
Singapore
Malaysia
Australia
You are currently on a site outside of your country Switch to external site?
Visit your local page. If you change your mind, you can use the dropdown at the top navigation to visit other Tokio Marine country pages.
ขณะนี้คุณอยู่ในเว็บไซต์นอกประเทศของคุณ เปลี่ยนไปใช้เว็บไซต์ประเทศของคุณไหม?
เยี่ยมชมเว็บไซต์ในประเทศของคุณ หากคุณเปลี่ยนใจ คุณสามารถเลือกเมนูด้านล่าง เพื่อไปที่หน้าประเทศอื่นๆ ของโตเกียวมารีน