3 ขั้นตอนการทำพินัยกรรมให้ถูกต้องและถูกกฎหมาย
สำหรับวิธีการทำพินัยกรรมให้ถูกต้องและมีผลทางกฎหมายนั้น มี 3 ขั้นตอนสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. เลือกรูปแบบพินัยกรรม
พินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถทำได้ง่าย ๆ มี 5 แบบ คือ
(1) พินัยกรรมแบบธรรมดา
เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นด้วยการเขียนหรือว่าการพิมพ์ มีการระบุรายละเอียดและลงวันที่ เดือน ปี ไว้อย่างชัดเจน โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อเป็นการยืนยันต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน รวมถึงพยานทั้ง 2 คน ก็ต้องลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมด้วยเช่นกัน
(2) พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ
เป็นวิธีการทำพินัยกรรมที่เรียบง่ายที่สุด โดยผู้ทำเป็นผู้เขียนระบุการแบ่งทรัพย์สินต่าง ๆ ด้วยลายมือของตนเอง พร้อมทำการลงลายมือชื่อเพื่อการยืนยันตัวตนไว้ด้วย ซึ่งวิธีนี้จะมีพยานหรือไม่มีก็นับว่ามีผลทางกฎหมายทั้งสิ้น
(3) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง
การทำพินัยกรรมด้วยวิธีนี้ ผู้ทำจะแจ้งความประสงค์ในการแบ่งทรัพย์สินต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้แก่ เจ้าพนักงานที่สำนักงานเขต สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือเจ้าพนักงานที่ว่าการอำเภอ สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เป็นผู้จดบันทึกข้อความแจกแจงการแบ่งทรัพย์สิน รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ และต้องมีพยานอีกอย่างน้อย 2 คนเข้ารับฟัง
หลังจากจดข้อความตามที่แจ้งครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะมีการอ่านข้อความให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง หากถูกต้องครบถ้วน ทั้งผู้ทำพินัยกรรมและพยาน จะทำการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ท้ายสุดคือเจ้าพนักงานจดบันทึกทำการลงลายมือชื่อ พร้อมประทับตราที่ระบุตำแหน่งไว้ด้วย
(4) พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ
ในส่วนของการทำพินัยกรรมด้วยวิธีนี้ ผู้ทำจะเขียนหรือว่าพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ในพินัยกรรมด้วยตนเอง หรือว่าให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ แต่ต้องทำการลงลายมือชื่อของตน และต้องมีพยานอีก 2 คน ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมเช่นกัน แล้วจึงทำการปิดผนึกซองพินัยกรรม โดยพินัยกรรมต้องมีการลงลายมือชื่อผู้ทำตรงรอยที่ปิดผนึกไว้ด้วย
หลังจากนั้น ให้นำซองพินัยกรรมที่ปิดผนึก พร้อมพยานไปแถลงข้อความในพินัยกรรม ต่อหน้าผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ มีเจ้าหน้าที่จดบันทึกถ้อยคำลงบนซองพินัยกรรม โดยเจ้าหน้าที่จะประทับตราตำแหน่ง และลงลายมือชื่อบนซอง แล้วให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองเช่นกัน
(5) พินัยกรรมทำด้วยวาจา
มาถึงวิธีทำพินัยกรรมรูปแบบสุดท้ายที่เราจะแนะนำ คือ พินัยกรรมทำด้วยวาจา ซึ่งเป็นพินัยกรรมที่สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตกอยู่ในภยันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในระหว่างสงคราม หรือเกิดมีโรคระบาด รวมถึงผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถขยับร่างกายได้ ในช่วงเวลานั้น หรือไม่สามารถหาเครื่องมือเครื่องเขียนได้ทัน ทั้งยังเกรงว่าจะถึงแก่ชีวิตเสียก่อน โดยผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจกแจงข้อกำหนดในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน
หลังจากนั้นโดยเร็วที่สุด พยานจะนำข้อความไปแจ้งต่อให้ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอรับทราบข้อความเหล่านั้น โดยที่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อความ รวมถึงพยานทั้งหมดจะทำการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ซึ่งพินัยกรรมฉบับนี้ จะสิ้นสภาพภายใน 1 เดือน หลังจากผู้ทำพินัยกรรมกลับสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้