การวางแผนการลงทุนในวัยเกษียณใครว่าไม่สำคัญ เพราะเราจะต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตไปจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเป้าหมายการลงทุนในช่วงวัยนี้จะแตกต่างไปจากเดิม โดยจะเป็นการวางแผนระยะสั้น และเน้นความยั่งยืน เรามี 5 ขั้นตอนการลงทุนเพื่อวัยเกษียณมาฝากกัน
1. ประเมินความเสี่ยงที่รับได้
ไม่ว่าเราจะลงทุนในช่วงไหนของชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือ ก่อนการลงทุนทุกครั้ง เราจะต้องประเมินความเสี่ยงที่เรารับได้ การประเมินความเสี่ยงนั้นจะพิจารณาปัจจัยส่วนบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอายุ ความอดทนต่อความเสี่ยง ภาระค่าใช้จ่าย ประสบการณ์ในการลงทุน
อายุ หากใครไม่รู้ว่าเราสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ส่วนใหญ่จะดูที่อายุเป็นอันดับแรก ยิ่งอายุยิ่งน้อยก็มีแนวโน้มที่จะรับความเสี่ยงได้มากตามไปด้วย
ความสามารถในการรับความเสี่ยง หมายถึง ตัวเราเองสามารถอดทนหรือไม่รู้สึกเครียดมากน้อยแค่ไหน หากว่าการลงทุนนั้นขาดทุน เพราะแต่ละคนมีความต้านทานต่อการขาดทุนที่แตกต่างกันออกไป บางคนขาดทุน หลักหมื่นยังเฉย ๆ แต่บางคนขาดทุนหลักพันก็รู้สึกเครียดแล้ว ดังนั้น ลองถามตัวเองก่อนว่า เราสามารถอดทนหรือต้านทานต่อความเสี่ยงในการขาดทุนได้มากแค่ไหนกัน
ภาระในการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ฐานะทางการเงิน ภาระหนี้สิน หากว่าเรามีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เราก็ไม่ควรจะลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง
ประสบการณ์ในการลงทุน ส่วนมากการลงทุนของผู้สูงวัยจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีประสบการณ์ในการลงทุนมาแล้ว และเป็นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนมาก่อน แล้วนำเงินก้อนที่ได้จากการเกษียณมาลงทุน
สำหรับการลงทุนในวัยเกษียณ แม้ว่าโดยทั่วไปจะเน้นสัดส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เราก็ควรประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ก่อนจัดพอร์ตการลงทุนทุกครั้ง
2. กระจายความเสี่ยงในการลงทุน
สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้ในการลงทุนของทุกช่วงวัย รวมถึงในวัยเกษียณคือ อย่าทุ่มลงทุนในสินทรัพย์อย่างเดียว แต่ให้เรากระจายการลงทุนออกเป็นหลายส่วน เพราะไม่มีสินทรัพย์ตัวไหนที่จะได้กำไรดีตลอดกาล แต่จะมีขึ้นลงสลับกันไป
การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เราสามารถได้กำไรโดยรวม และไม่เสียหายจนเกินไปหากเจอกับวิกฤตทางการเงิน และในทางกลับกัน การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงบ้าง ก็จะช่วยสร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ สู้กับภาวะเงินเฟ้อได้
ระดับความเสี่ยงในการลงทุน
ระดับที่ 1 ฝากธนาคาร
ระดับที่ 2 พันธบัตรรัฐบาล
ระดับที่ 3 หุ้นกู้
ระดับที่ 4 กองทุนรวม
ระดับที่ 5 หุ้น
ระดับที่ 6 อนุพันธ์
การฝากธนาคารมีความเสี่ยงต่ำก็จริง แต่ผลตอบแทนก็ต่ำ หากว่าเลือกอนุพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสได้กำไรสูงด้วยเช่นเดียวกัน
การจัดพอร์ตลงทุนตามระดับความเสี่ยง
การจัดพอร์ตแบบระมัดระวัง มีความเสี่ยงต่ำ โดยจะลงทุนในความเสี่ยงต่ำอย่างเงินฝากประมาณ 40-50% ความเสี่ยงปานกลางอย่างตราสารหนี้ 40-50% และความเสี่ยงสูงประมาณ 10%
การจัดพอร์ตแบบปานกลาง มีความเสี่ยงปานกลาง โดยจะลงทุนในความเสี่ยงต่ำประมาณ 35-40% ความเสี่ยงปานกลาง 50% และความเสี่ยงสูงประมาณ 15%
การจัดพอร์ตเชิงรุก มีความเสี่ยงสูง โดยจะลงทุนในความเสี่ยงต่ำประมาณ 25-30% ความเสี่ยงปานกลาง 60% และความเสี่ยงสูงประมาณ 15%
สำหรับการลงทุนในวัยเกษียณ เราขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในพอร์ตเชิงรุก แนะนำให้เลือกแบบระมัดระวัง หรือพอร์ตปานกลางจะดีกว่า